การขึ้นครองเมืองพิษณุโลกและการล่มสลายของชุมนุมพระพิษณุโลก (เรือง) ของ พระยาไชยบูรณ์ (จัน)

ขึ้นครองเมืองพิษณุโลกแทนพี่ชาย

เมื่อ พ.ศ. 2311 ปีชวดสัมฤทธิศก ตรงกับเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2311 ฤดูน้ำหลาก หลังจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียกทัพไปตีชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) แล้วไม่สำเร็จจึงได้ล่าทัพกลับยังกรุงธนบุรี ต่อมาเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ถึงแก่พิราลัยด้วยโรคฝีละลอกในคอ พระอินทร์อากร ผู้เป็นน้องชายในขณะนั้นเป็นอุปราชและพระปลัดเมืองพระพิษณุโลกจึงได้ทำฌาปนกิจปลงศพเสร็จพี่ชายตนแล้ว จึงได้ขึ้นครองเมืองพระพิษณุโลกสืบต่อไป แต่ไม่ได้ตั้งตนขึ้นเป็นกษัตริย์[16]:78แต่การขึ้นครองเมืองของพระอินทร์อากรนั้นทำให้เมืองพิษณุโลกอ่อนแอลง เนื่องจากพระอินทร์อากรไม่มีฝีมือในการรบและไม่เป็นที่นับถือเหมือนเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เป็นเหตุให้เกิดการรุกรานของชุมนุมเจ้าพระฝาง (มหาเรือน)

ปรากฏในหนังสือ ต้นวงศ์ตระกูลพะญาศรีสหเทพชื่อทองเพ็ง ความว่า :-

ครั้นเมื่อพระจ้าวกรุงพระพิศณุโลกย์สวรรค์คตแล้ว พระมหาอุปราชย์ กรมพระราชวังบวร ฯ พระอนุชาธิราช ได้ครอบบ้านครองเมืองแทนพระเชษฐาธิราช ในกรุงพระพิศณุโลกย์ราชธานีต่อไป...[17]

ปรากฏใน พระราชพงศาวดารกรุงสยาม ความว่า :-

พระอินอากรตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้าพระพิศณุโลกย์ครอบครองเป็นเจ้าของชุมนุมนั้นต่อไปแต่เจ้าพระพิศณุโลกย์ใหม่นั้นสติปัญญาอ่อนแอ เจ้าพระฝางรู้ก็มาตีเมืองพระพิศณุโลกย์[4]

พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวว่า :-

พระอินทรอากรผู้น้องก็กระทำฌาปนกิจปลงศพเสร็จแล้ว ก็ได้ครองเมืองพระพิษณุโลกสืบไปแต่หาตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้าไม่ ด้วยกลัวจะเป็นจัญไรเหมือนพี่ชายซึ่งตายไปนั้น[18]:322–323

ทั้งนี้ มีนักวิชาการได้วิเคราะห์พฤฒิกรรมของพระอินทร์อากรนำไปสู่การล่มสลายของชุมนุมพระพิษณุโลก เช่น เชาวน์ รูปเทวินทร์ นักหนังสือพิมพ์อาวุโส และผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย[19] กล่าวว่า "...เมื่อเจ้าพระยาพิษณุโลกเรือง ถึงแก่พิราลัยแล้ว พระอินทร์อากร น้องชายของท่านซึ่งเป็นปลัดเมืองอยู่เดิม และเป็นคนธรรมะธรรมโม ชอบเข้าวัดฟังเทศน์ทำบุญอยู่เป็นนิตย์ ไม่มีฝีมือในการรบทัพจับศึกกับใคร..."[20]:343 บังอร ปิยะพันธุ์ กล่าวว่า "...พระอินอากรน้องชายจึงขึ้นเป็นหัวหน้าต่อมา แต่ไม่กล้าเป็นเจ้าเกรงจะตายเหมือนพี่ชายเพราะไม่มีความสามารถด้านการรบ..."[21]:188 และบุญทรง ไทยทำ กล่าวว่า "...พระอินทร์อากรผู้น้องปกครองต่อไปแต่มิได้ประกาศตนเป็นเจ้าแผ่นดิน คงทำหน้าที่ครองเมืองอยู่เฉย ๆ จะละอายใจต่อการประกาศตนหรือเพราะถือฤกษ์ยามว่ายังไม่เหมาะสมควรอย่างไรก็ได้ เพราะที่จริงแล้วความแข็งเมืองพิษณุโลกนั้นอยู่ที่เจ้าพระยาพิษณุโลกเพียงคนเดียว พระอินทร์อากรอาจมิได้แสดงฝีมืออะไรให้เป็นที่ประจักษ์มาก่อนก็ได้..."[22] เป็นต้น

ยกทัพพิษณุโลกสมทบฝ่ายสมเด็จพระโสร์ทศ (เจ้าจุ้ย)

เมื่อ พ.ศ. 2311 ราวเดือนธันวาคม หลังจากพระยาไชยบูรณ์ (จัน) ทราบข่าวพระราชสาส์นให้พิษณุโลกจัดกองทัพสนับสนุนสมเด็จพระโสร์ทศ (เจ้าจุ้ย) นั้น พระยาไชยบูรณ์ (จัน) จึงได้จัดทัพพิษณุโลกแล้วจึงรี้พลลงไปเขตเมืองนครสวรรค์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทราบข่าวศึกจึงมีรับสั่งให้พระยาอนุรักษ์ภูธร เจ้าเมืองนครสวรรค์ จัดกำลังพลสกัดทัพพิษณุโลกไว้เพื่อมิให้แผนของสมเด็จพระโสร์ทศ (เจ้าจุ้ย) สำเร็จ

เจ้าพระฝางยกทัพมาตีเมืองพิษณุโลก

เมื่อ พ.ศ. 2311 ราวเดือนธันวาคม เจ้าพระฝางจึงยกทัพมาปิดล้อมเมืองพระพิษณุโลก แม้พระยาไชยบูรณ์ (จัน) มีอำนาจเกียรติยศไม่เท่าพี่ชายแต่ก็มีฝืมือเข้มแข็งและมีความสามารถ[6]:295 ปรากฎว่าได้สู้รบกับเจ้าพระฝางประมาณ 3 เดือน[3]:75[18]:622 ชาวเมืองพระพิษณุโลกเกิดความอดอยากและไม่นับถือพระยาไชยบูรณ์ (จัน) เนื่องจากเมืองพิษณุโลกไม่ได้สะสมเสบียงอาหารไว้เพียงพอ[6]:295 จึงเกิดไส้ศึกขึ้นโดยแอบเปิดประตูเมืองรับทัพเจ้าพระฝางในเวลากลางคืน

ชุมนุมพระพิษณุโลก (เรือง) ล่มสลาย

เมื่อ พ.ศ. 2312 ปีชวดสัมฤทธิศก ราวเดือนกุมภาพันธ์ พระอินทร์อากร ถูกเจ้าพระฝางจับได้และถูกต้องโทษประหารชีวิตให้เอาศพขึ้นประจานในเมืองพระพิษณุโลก ทำให้ชุมนุมพระพิษณุโลก (เรือง) ล่มสลายไปโดยสมบูรณ์ หัวเมืองเหนือทั้งหมดจึงตกเป็นของเจ้าพระฝางทั้งสิ้น เมื่อเจ้าพระฝางเข้าควบคุมเมืองพระพิษณุโลกได้แล้วนั้นได้เก็บทรัพย์สินมีค่า ศัตราวุธหนักเบา และกวาดต้อนชาวเมืองพระพิษณุโลกไปเมืองสวางคบุรีได้เป็นจำนวนมาก ให้หลวงโกษา (ยัง) คุมเมืองเมืองพระพิษณุโลก

ปรากฏในหนังสือ ต้นวงศ์ตระกูลพะญาศรีสหเทพชื่อทองเพ็ง ความว่า :-

ครั้งนั้นพระจ้าวฝางยกกองทัพใหญ่ลงมาตีกรุงพระพิศณุโลกย์แตกยับเยินป่นปี้หมดทั้งสิ้น เพราะมีริ้พลแลศาสตราวุทธ์ยุทธภัณฑ์น้อยกว่า กองทัพเมืองสวางคบุรี ๆ จึ่งรบตีมีไชยชำนะ พระจ้าวฝางกวาดต้อนครอบครัวชาวกรุงพระพิศณุโลกย์ อพยพเทครัวพลเมืองพระพิศณุโลกย์ขึ้นไป ไว้ในเมืองสวางคบุรีเปนอันมาก...[23]

และยังมีชาวเมืองพระพิษณุโลกและเมืองพิจิตรอีกจำนวนมากรวมทั้งท่านผู้หญิงเชียง ภรรยาและบุตรหลานของเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) หนีอพยพไปรวบกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

ปรากฏใน จดหมายเหตุโหร ความว่า :-

ปีชวด จ.ศ. ๑๑๓๑ เมืองพิษณุโลก เมืองพิจิตร แตกมาสู่โพธิสมภาร...[24]:116

ใกล้เคียง